“กงสุล” เตรียมจัดทำร่าง TOR ประมูล “พาสปอร์ต” โฉมใหม่ระยะที่ 4 ปลายปีนี้

ว่ากันว่า “กรมการกงสุล” ให้บริการหนังสือเดินทาง (Passport) มาแล้ว 42 ปี และได้เริ่มผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-passport) ครั้งแรก (ระยะที่ 1) ในปี 2548 มีการฝังชิปในหนังสือเดินทาง และมีการพัฒนามาโดยตลอด และมีคุณลักษณะสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

ปัจจุบันการดำเนินการอยู่ภายใต้โครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2562 และจะสิ้นสุดสัญญา 7 ปี (วันที่ 4 กรกฎาคม 2569) ปัจจุบันมีคนไทยถือหนังสือเดินทางรวมทั้งหมดกว่า 14 ล้านเล่ม

และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินโครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 4 กรมการกงสุลได้เตรียมพร้อมด้วยการจัดงานสัมมนาหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ของไทย” ไปในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้หนังสือเดินทางของไทยมีความน่าเชื่อถือ เกิดความสะดวกในการเดินทาง ท่ามกลางการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี

ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยกำลังเจรจากับประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งประเทศไทยให้การยกเว้นวีซ่ากับหลายประเทศไปแล้ว และก็คาดว่าจะได้รับการตอบแทนบ้าง เนื่องจากจะทำให้การเดินทางของคนไทยไปต่างประเทศทั้งการท่องเที่ยวและธุรกิจมีความสะดวกคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับหลายประเทศ เพื่อขอยกเว้นเชงเกนวีซ่าให้แก่คนไทยที่จะไปต่างประเทศ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของหนังสือเดินทางประเทศไทยด้วย

ดังนั้น ทิศทางการพัฒนาหนังสือเดินทางของประเทศไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องท้าทายหลังการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัลเทคโนโลยี สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งกรมการกงสุลได้วางแนวทางในการพัฒนาหนังสือเดินทางในอนาคต เช่น การจัดทำระบบยื่นคำร้องแบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงาน

และการจัดทำหนังสือเดินทางดิจิทัล Digital Travel Credentials หรือ DTCs การเพิ่มคุณลักษณะความปลอดภัย โดยใช้รูปถ่ายสีแทนรูปขาวดำ และมีโฮโลแกรมภาพบุคคลเสมือนจริงเป็นภาพสีใน Biodatabase เป็นต้น

ล่าสุด “รุจ ธรรมมงคล” อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวสู่การพัฒนาหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ (ระยะที่ 4) ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2569 ในปี 2567 นี้ กรมการกงสุลจึงเตรียมจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) สำหรับการประกวดราคา โดยเน้นพัฒนางานบริการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการให้บริการและเข้าถึงได้หลายช่องทาง

อธิบดีกรมการกงสุลยังบอกด้วยว่า กรมการกงสุลมีแผนปรับโฉมหนังสือเดินทางรุ่นใหม่ตามกระแสเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการรูปภาพสี ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีเทคนิคป้องกันการปลอมแปลงชั้นสูงพัฒนาไปมาก จนมั่นใจในคุณภาพ ความสวยงาม และความปลอดภัย

รวมถึงการพัฒนาระบบยื่นขอหนังสือเดินทางออนไลน์ สำหรับผู้ที่เคยมีหนังสือเดินทางแล้วและมีอายุเกิน 20 ปี การพัฒนาตู้ยื่นขอหนังสือเดินทางแบบบริการด้วยตนเอง (Passport Kiosk) ให้ทันสมัยมากขึ้น การนำระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน (e-KYC) ที่แม่นยำ รวมทั้งเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทั้งนี้ คาดว่าจะประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ในช่วงปลายปี 2567 เพื่อให้เอกชนที่สนใจและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดใน TOR เข้าร่วมแข่งขันอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

พร้อมระบุว่า กรมการกงสุลให้ความสำคัญกับการพัฒนางานบริการด้านการกงสุลให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่อย่างมั่นใจ ตามนโยบายการทูตเพื่อประชาชน

เพราะในยุคปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ หรือ Generative AI เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสะดวกสบายมากขึ้นนั้นจะมาพร้อมกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่ต้องปรับตัวรับ…

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “กงสุล” เตรียมจัดทำร่าง TOR ประมูล “พาสปอร์ต” โฉมใหม่ระยะที่ 4 ปลายปีนี้

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-04-21T04:03:36Z dg43tfdfdgfd