การบินไทย คอนเฟิร์ม! ขายแล้ว “แอร์บัส A380” ยกลอต 6 ลำ

จากกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศขายเครื่องบินแอร์บัส A380 พร้อมเครื่องยนต์ ทั้งหมดจำนวน 6 ลำ ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 บนเว็บไซต์ thaiaircrafttrading.com เนื่องจากการบินไทยไม่มีแผนนำกลับมาใช้งาน และจอดทิ้งไว้ตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

และล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่าการบินไทยสามารถขายเครื่องบินรุ่นดังกล่าวทั้ง 6 ลำได้แล้ว

โดยแหล่งข่าวในบริษัท การบินไทย จำกัด ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เครื่องบินแอร์บัส A380 ทั้ง 6 ลำของการบินไทยที่ประกาศขายไปก่อนหน้านี้ ได้ทำข้อตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยตั้งแต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา

ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการส่งมอบให้กับเจ้าของใหม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรในการดำเนินการ

ส่วนรายละเอียดว่าบริษัท หรือสายการบินใดเป็นผู้ซื้อไป และมูลค่าที่ขายออกไปเท่าไหร่นั้น แหล่งข่าวบอกว่า รายละเอียดทั้งหมดต้องรอ “ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ แถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การบินไทย” มีมติจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A380 เมื่อปี 2547 ในยุคที่มี นายกนก อภิรดี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และนายทนง พิทยะ เป็นประธานกรรมการบริษัท

ในครั้งนั้นมีการอนุมัติให้ดำเนินการจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินโบอิ้ง B777 -200ER จำนวน 6 ลำ

ในส่วนของเครื่องแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำนั้น เป็นที่เปิดเผยกันในช่วงนั้นว่า ราคาอยู่ที่ลำละ 500,000 เหรียญสหรัฐ รวมเป็นเงิน 3,000,000 เหรียญสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทในช่วงปีนี้ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์ หากคำนวณตามเรตนี้มูลค่ารวมคร่าว ๆ ที่ซื้อมาก็น่าจะประมาณ 96,000 ล้านบาท

และย้ำว่า ไม่อยากให้มองประเด็นในเรื่องของมูลค่าในวันที่เราซื้อมาเป็นตัวตั้ง วันนี้เราต้องมองว่าธุรกิจการบินทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับนวัตกรรมและความก้าวหน้าในการผลิตเครื่องบินก็ทันสมัยขึ้น ทุกคนมุ่งสู่เครื่องบินที่ประหยัดพลังงาน

ขณะที่เครื่องบินแอร์บัส A380 เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ ขนผู้โดยสารได้กว่า 500 คนต่อเที่ยว มีถึง 4 เครื่องยนต์ ทำให้มีปริมาณการสิ้นเปลืองพลังงานที่สูงมากเมื่อเทียบกับรุ่นใหม่ ๆ ที่ทยอยออกสู่ตลาด

ที่สำคัญ การบินไทยไม่ได้นำเครื่องบินแอร์บัส A380 กลับมาใช้งานนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากรูปแบบของเครื่องบินไม่สอดรับกับสภาพตลาดหลังโควิด ทั้งราคาน้ำมัน พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร บวกกับเป็นรุ่นที่มีค่าบำรุงรักษาที่สูงถึงหลักพันล้านบาท (หากนำไปซ่อมแล้วนำกลับมาใช้) ซึ่งคณะบริหารและผู้บริหารแผนฟื้นฟูประเมินแล้วว่าไม่คุ้มค่าหากต้องซ่อมบำรุงกลับมาใช้งานอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเครื่องบินรุ่นนี้ถูกจอดไว้ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าจอดและค่าดูแลรักษา ขณะที่บริษัทมีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย และหารายได้ทั้งจากธุรกิจการบินและธุรกิจอื่น ๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของ “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A380 ทั้ง 6 ลำของการบินไทยที่จำหน่ายออกไป ได้แก่ แอร์บัส A380-800 ทะเบียน HS-TUA (msn087) นามพระราชทาน “ศรีรัตนะ” อายุ 11.4 ปี มีชั่วโมงบิน 32,880 ชั่วโมง แอร์บัส A380-800 ทะเบียน HS-TUB (msn093) นามพระราชทาน “มัญจาคีรี” อายุ 11.2 ปี มีชั่วโมงบิน 32,699 ชั่วโมง แอร์บัส A380-800 ทะเบียน HS-TUC (msn100) นามพระราชทาน “ไชยา” อายุ 11 ปี มีชั่วโมงบิน 32,550 ชั่วโมง

แอร์บัส A380-800 ทะเบียน HS-TUD (msn122) นามพระราชทาน “พยุหะคีรี” อายุ 10.8 ปี มีชั่วโมงบิน 31,118 ชั่วโมง แอร์บัส A380-800 ทะเบียน HS-TUE (msn125) นามพระราชทาน “ศรีราชา” อายุ 10.1 ปี มีชั่วโมงบิน 30,645 ชั่วโมง และแอร์บัส A380-800 ทะเบียน HS-TUF (msn131) นามพระราชทาน “กมลาไสย” อายุ 10.3 ปี มีชั่วโมงบิน 29,639 ชั่วโมง โดยทุกลำติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นเดียวกันคือ Rolls-Royce Trent 970-84

การดำเนินการขายเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งาน และประเมินแล้วว่าจะเป็นภาระด้านการเงินในระยะยาวออกไปของการบินไทย น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในเวลานี้

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : การบินไทย คอนเฟิร์ม! ขายแล้ว “แอร์บัส A380” ยกลอต 6 ลำ

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-04-25T01:16:57Z dg43tfdfdgfd