นักท่องเที่ยวเข้าต่ำแสน หวั่นโลว์ซีซั่นทรุดหนัก ททท.ชี้กระทบสั้นยอดบุ๊กกิ้งแอร์ไลน์แน่น

“ท่องเที่ยว” หวั่นโลว์ซีซั่นปีนี้ซบหนัก ตัวเลขนักท่องเที่ยวรายวันหลังสงกรานต์วูบต่ำแสน ตลาดยุโรป “UK-ฝรั่งเศส-เยอรมนี” หายไปเกือบครึ่ง ชี้ปัจจัยลบเพียบ ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน สงครามอิหร่าน-อิสราเอล สทท.เผยเสนอแผนรับมือไปตั้งแต่ต้นปียังไม่คืบ งบประมาณไม่มี ด้าน ททท.มั่นใจกระทบสั้น ยันมอนิเตอร์ตลาดทุกวัน โหลดแฟกเตอร์สายการบินยังเกิน 90% ล่าสุดเตรียมตั้งสำนักงานชิคาโกช่วยกวาดตลาดโซนอเมริกาอีกแรง กระทรวงท่องเที่ยวฯ เปิดตัวเลข 3 เดือน 21 วันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 11.29 ล้านคน

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังสิ้นสุดเทศกาลเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ งานเทศกาลที่ถูกยกระดับให้เป็นอีเวนต์ซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก บวกกับปัจจัยเรื่องสงครามอิหร่าน-อิสราเอล เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13-14 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรายวันลดลงอย่างชัดเจน จากจำนวนเฉลี่ยประมาณ 100,000 คนต่อวัน ลดลงมาเหลือ 60,000-70,000 คนต่อวันเท่านั้น

นักท่องเที่ยวลดต่อเนื่องตั้งแต่ 13 เม.ย.

โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น (นอกฤดูกาลท่องเที่ยว) และมองว่ามีความเป็นได้อย่างมากว่าในช่วงโลว์ซีซั่นปีนี้การท่องเที่ยวของไทยจะขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งกระทบหนักกว่าปกติ เนื่องจากทั่วโลกมีปัจจัยลบ ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน ต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงประเด็นสงครามอิหร่านและอิสราเอลที่เกิดความรุนแรงในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

สอดรับกับข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่รายงานว่า วันที่ 11 และ 12 เมษายน 2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยอยู่ในระดับ 120,000 คนต่อวัน วันที่ 13 เมษายน ลดลงมาอยู่ที่ 105,806 คน และลดลงต่อเนื่องในวันที่ 14 เมษายน จำนวน 85,862 คน วันที่ 15 เมษายน จำนวน 74,620 คน วันที่ 16 เมษายน จำนวน 66,829 คน

และเริ่มขยับขึ้นเล็กน้อยในวันที่ 17 เมษายน จำนวน 76,251 คน วันที่ 18 เมษายน จำนวน 87,116 คน วันที่ 19 เมษายน จำนวน 97,315 คน วันที่ 20 เมษายน จำนวน 87,537 คน และวันที่ 21 เมษายน จำนวน 83,141 คน

ยุโรปร่วง/จีน-มาเลย์ยังดี

นายกิตติ พรศิวะกิจ กรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และประธานอนุกรรมการ Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากมอนิเตอร์ข้อมูลตัวเลขของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พบว่าสถานการณ์โดยรวมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน แต่ยังไม่ได้กลับไปสู่ในระดับ 100,000 คนต่อวัน เหมือนช่วงก่อนวันที่ 13 เมษายน

อย่างไรก็ตาม หากมอนิเตอร์ในภาพรวมจะพบว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่ค่อนข้างนิ่ง เดินทางเข้ามาเฉลี่ยที่ประมาณ 17,000-19,000 คนต่อวัน ขณะที่มาเลเซียยังแกว่ง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยตั้งแต่ 12,000-30,000 คน เช่น ในช่วงวันที่ 11-12 เมษายน มีจำนวนถึง 29,000-30,000 คนต่อวัน บางวันก็เข้ามาเพียง 8,500-12,000 คน

ส่วนตลาดอินเดีย รัสเซียค่อนข้างปกติ และตลาดที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องคือ ไต้หวัน ลาว เวียดนาม ส่วนตลาดที่หายไปมากคือยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรราชอาณาจักร (UK) โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 14-16 เมษายน ที่เริ่มเห็นผลกระทบจากสงครามอิหร่าน-อิสราเอล พบว่าตลาดดังกล่าวนี้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปเท่าตัว และก็ยังคงลดลงต่อเนื่องแม้ว่าอิหร่านและอิสราเอลจะหยุดโจมตีกันแล้วก็ตาม

เมษาฯ นักท่องเที่ยว 2.7-2.8 ล้านคน

นายกิตติกล่าวอีกว่า ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงนั้น มองว่าเป็นผลจาก 3 ประเด็นใหญ่คือ 1.เป็นปรากฏการณ์หลังสงกรานต์ ซึ่งปกติจะเกิดการชะลอการเดินทาง เช่นเดียวกับช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนที่จะพบว่าตัวเลขจะลดลงต่อเนื่องอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์

2.สายการบินเปลี่ยนตารางการบินจากฤดูหนาว (Winter Schedule) เป็นตารางบินฤดูร้อน (Summer Schedule) ซึ่งในปีปกติจำนวนเที่ยวบินในตารางบินฤดูร้อนในโซนยุโรปจะมีจำนวนลดลงจากตารางบินในฤดูหนาว และ 3.เป็นเรื่องของความกังวลในภาวะสงคราม ซึ่งที่เห็นชัดเจนคือตลาดในฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส UK เยอรมนี ซึ่งพบว่าหายไปประมาณ 50%

“จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการได้ข้อมูลตรงกันว่า เมื่อเกิดสงครามนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาบางส่วนรีบเช็กเอาต์เพื่อเดินทางกลับ นักท่องเที่ยวยกเลิกห้องพักไปประมาณ 20% หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ก็ไม่เห็นภาพการยกเลิกห้องพัก ทำให้คาดว่าเดือนเมษายนนี้จะมีนักท่องเที่ยวที่ประมาณ 2.7-2.8 ล้านคน ลดลงจากเดือนมีนาคมเล็กน้อยที่มีจำนวน 2.9 ล้านคน”

ไต้หวัน-ญี่ปุ่นอัดหนัก/ไทยไม่มีงบฯ

นายกิตติกล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมานายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ หรือ สทท. ในฐานะภาคเอกชนได้นำเสนอแผนเชิงรุกสำหรับรับมือและช่วยกระตุ้นตลาดในช่วงโลว์ซีซั่น (ไตรมาส 2-3) ผ่านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ททท.เห็นด้วย แต่สุดท้ายก็ติดขัดเรื่องงบประมาณ

“งบฯปี 2567 ททท.ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด และในช่วงโควิดงบประมาณก็ถูกตัดไปครึ่งหนึ่ง มาปีนี้รัฐบาลบอกว่าเพิ่มงบประมาณให้แล้ว แต่งบฯที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มจากปีที่ถูกตัด ไม่ได้เพิ่มจากปีปกติ งบฯกระตุ้นท่องเที่ยวในปีนี้จึงยังต่ำกว่าปี 2562 อยู่ประมาณ 20% ขณะที่เป้าหมายทั้งด้านจำนวนและรายได้เพิ่มขึ้นจากปกติ 20%” นายกิตติกล่าว และว่า

ทั้งนี้ ปัจจุบันงบประมาณส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรายได้จากการท่องเที่ยว และหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นก็ยังถือว่าต่ำมากเช่นกัน

นายกิตติกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ประเด็นที่น่าจะจับตามองและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของประเทศไทยคือ ปัจจุบันหลายประเทศ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ได้ทยอยออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 กันแล้ว โดยเฉพาะรูปแบบการอุดหนุนงบประมาณ (Subsidized) ให้บริษัททัวร์

พร้อมทั้งใช้บริษัททัวร์เป็นเครื่องมือในการดึงนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่เป้าหมาย เช่น อุดหนุนงบฯ 2,000 บาท สำหรับการไปเที่ยวเมืองหลัก และอุดหนุน 5,000 บาท สำหรับไปเที่ยวในพื้นที่เมืองรอง เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ยังมีงบฯอุดหนุนภาคการขนส่ง เช่น สายการบินควบคู่กันไปด้วย เพื่อลดต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยว

ททท.เชื่อกระทบแค่ระยะสั้น

ด้านนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับตัวลดลงของตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุสงครามอิหร่านและอิสราเอล

โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 14-16 เมษายน เนื่องจากเหตุรุนแรงเริ่มเกิดขึ้นวันที่ 13 เมษายน ซึ่งอาจมีผลทำให้คนเกิดอาการช็อก และไม่มั่นใจในการออกเดินทางท่องเที่ยว ขณะที่สายการบินหลายรายปรับเปลี่ยนเส้นทางบิน และทบทวนแผนการบิน ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนค่าตั๋วโดยสารสูงขึ้น เนื่องจากเครื่องบินต้องบินอ้อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาแค่สั้น ๆ เท่านั้น

“ตอนนี้ยังเร็วเกินไปสำหรับการประเมินตลาด ที่สำคัญการดูตัวเลขรายวันบางครั้งไม่สามารถบอกได้ทุกอย่าง ต้องประเมินกันเป็นเดือนหรือเป็นฤดูกาล” นายศิริปกรณ์กล่าว และว่า ทั้งนี้ จากการดูตัวเลขภาพรวมตอนนี้จะพบว่าตลาดระยะไกล หรือ Long-Haul Market ยังแข็งแรง โดยตลาดหลักคือรัสเซียที่ยังโตต่อเนื่อง

โหลดแฟกเตอร์สายการบิน 98-99%

นายศิริปกรณ์กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าสถานการณ์การลดลงของนักท่องเที่ยวจะเป็นแค่ช่วงสั้นคือ จากการมอนิเตอร์ข้อมูลของสายการบินในปัจจุบัน พบว่าอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือโหลดแฟกเตอร์ของทุกสายการบินยังดีต่อเนื่อง อาทิ แอร์แคนาดา ที่บินทุกวันโหลดแฟกเตอร์อยู่ในระดับ 98-99% บางวันเต็ม 100%

เช่นเดียวกับสายการบินใหม่ เช่น สายการบินคอนดอร์ (Condor) ของเยอรมนี ที่มีแผนบินเข้ากรุงเทพฯ และภูเก็ตในเดือนกันยายนนี้ อัตราการจองล่วงหน้าก็อยู่ในระดับที่ดี

“ถ้าเราดูกราฟรายเดือนจะพบว่าตัวเลขมีขึ้นมีลงตลอด เพราะในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละเดือนนักท่องเที่ยวแต่ละตลาดจะมีความแตกต่างกัน เช่น ช่วงอีสเตอร์ ฮอลิเดย์ตัวเลขก็จะขึ้น พอถึงช่วงรอมฎอนตัวเลขก็จะตก เพราะนักท่องเที่ยวมาเลเซียไม่ออกเดินทาง เป็นต้น”

นอกจากนี้ ททท.ยังอยู่ระหว่างการเตรียมสำนักงาน ททท. สำนักงานชิคาโก ในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งเป็นสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานที่ 3 ในสหรัฐอเมริกาของ ททท. เพื่อดูแลตลาดในพื้นที่ครอบคลุมประเทศแคนาดาทั้งหมด และพื้นที่ภาคกลางของสหรัฐ จำนวน 16 รัฐ ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการทำตลาดเข้มข้นขึ้นอีกด้วย

15-21 เมษาฯ นักท่องเที่ยวลด 1.8 แสน

ด้านนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-21 เมษายน 2567) หลังสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติชะลอตัวลงกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมากเพื่อเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเริ่มเดินทางกลับหลังสิ้นสุดเทศกาล

ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดหลักขยายตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 4,591 คน หรือร้อยละ 11.90 จากสัปดาห์ก่อนหน้าจากการเสร็จสิ้นการปฏิบัติศาสนกิจในช่วงเทศกาลนวราตรี ส่งผลให้ในภาพรวมสัปดาห์นี้ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 572,809 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 180,993 คน หรือร้อยละ 22.15 คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 81,830 คน

โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน (120,615 คน) มาเลเซีย (75,780 คน) อินเดีย (40,347 คน) รัสเซีย (31,727 คน) และลาว (26,429 คน) โดยนักท่องเที่ยวลาว และอินเดีย มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ร้อยละ 35.61 และร้อยละ 11.90 ในขณะที่นักท่องเที่ยวมาเลเซีย จีน และรัสเซีย มีการปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ร้อยละ 49.61 ร้อยละ 18.86 และร้อยละ 8.49 ตามลำดับ

สำหรับในสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยลักษณะทรงตัว แต่ยังคงมีปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ได้แก่ การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน ที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2567 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-21 เมษายน 2567 รวมทั้งสิ้น 11,296,762 คน สร้างรายได้ประมาณ 544,861 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน (2,152,167 คน) มาเลเซีย (1,466,837 คน) รัสเซีย (727,351 คน) เกาหลีใต้ (643,412 คน) และอินเดีย (587,282 คน)

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นักท่องเที่ยวเข้าต่ำแสน หวั่นโลว์ซีซั่นทรุดหนัก ททท.ชี้กระทบสั้นยอดบุ๊กกิ้งแอร์ไลน์แน่น

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-04-24T00:43:15Z dg43tfdfdgfd