“แอร์เอเชียเอ็กซ์” กลับดอนเมือง เจรจา AOT พัฒนาเทอร์มินัลเฟส 3

“แอร์เอเชีย เอ็กซ์” ย้ายฐานการบินกลับดอนเมือง 1 ตุลาคมนี้ ดอดเจรจา AOT มีส่วนร่วมวางคอนเซ็ปต์ในแผนพัฒนาเฟส 3 มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ดีลพื้นที่บางส่วนของอาคารอินเตอร์ปักหมุด “แอร์เอเชียเทอร์มินัล” ด้าน AOT เดินหน้าตอบโจทย์เอวิเอชั่นฮับ ยกระดับดอนเมืองสู่ท่าอากาศยานแบบ Point-to-Point ติดอันดับ 10 สนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT และสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ขานรับนโยบายของรัฐบาลและผลักดันให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพด้านการบินของไทยสู่การเป็น Aviation Hub รวมถึงแผนการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต รวมทั้งเปิดโอกาสให้ท่าอากาศยานดอนเมืองได้โชว์ศักยภาพในการให้บริการผู้โดยสาร จึงได้ปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ให้สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กลับมาใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นฐานปฏิบัติการบิน เพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้การเดินทางของผู้โดยสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย และตอบสนองความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ย้าย AirAsia X กลับดอนเมือง

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งเน้นในด้านการส่งเสริมนโยบายผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยแป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Aviation Hub) โดยจัดวางโพซิชันนิ่งของท่าอากาศยานหลัก 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ให้มีความชัดเจน โดยวางตำแหน่งให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นฮับการบินสำหรับสายการบินที่ให้บริการในรูปแบบเชื่อมต่อเส้นทางการบิน หรือสายการบิน Connectivity ที่มีพันธมิตรโค้ชแชร์ หรือ Alliance อาทิ กลุ่มพันธมิตร Star Alliance กลุ่มพันธมิตร Oneworld Alliance ฯลฯ

ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองจะผลักดันและยกระดับให้เป็นท่าอากาศยานแบบ Point-to-Point หรือการเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ที่สะดวก รวดเร็ว ครบครัน และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางในอนาคต สอดคล้องกับบทบาททางยุทธศาสตร์ “ท่าอากาศยานที่รวดเร็ว และสะดวกสบาย” หรือ “Fast and Hassle-free Airport”

ลดความแออัด “สุวรรณภูมิ”

ดร.กีรติกล่าวว่า ปัจจุบันศักยภาพในการรองรับ (Capacity) เที่ยวบินและผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมืองยังเหลืออีกมาก โดยมีสัดส่วนของสายการบินใช้บริการแค่ประมาณ 60% ของปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด-19 การย้ายฐานการบินของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กลับดอนเมือง จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันช่วยลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และบริหารการใช้ประโยชน์พื้นที่ (Utilization) ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งให้ดียิ่งขึ้นด้วย

ขณะที่ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยก็เห็นแล้วว่าทางท่าอากาศยานดอนเมืองตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบายของผู้โดยสาร ซึ่งทาง AOT เองก็พร้อมจัดพื้นที่เช็กอินพิเศษให้ เนื่องจากเป็นลูกค้ารายใหญ่

ดันดอนเมือง No.10 สนามบินโลว์คอสต์

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานดอนเมืองยังได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย บรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน อาทิ ระบบ Biometric เพื่อระบุตัวตนผู้โดยสารโดยใช้เทคโนโลยี Face Recognition ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service : CUSS) ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) และระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร

ทำให้สามารถลดระยะเวลากระบวนการผู้โดยสารขาเข้าและขาออกภายในประเทศตามเกณฑ์เป้าหมายที่ AOT กำหนด ซึ่งจะส่งผลให้ท่าอากาศยานดอนเมืองติดอันดับ 10 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals) จากการจัดอันดับของ Skytrax โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้เดินทางด้วยเครื่องบินทั่วโลก

“การที่ไทยแอร์เอเชียกลับมาให้บริการที่ดอนเมือง เป็นการเปิดโอกาสให้ท่าอากาศยานดอนเมืองได้แสดงศักยภาพในการเป็นท่าอากาศยานที่พร้อมรองรับผู้โดยสารจากเที่ยวบินระหว่างประเทศ กลายเป็น Low-Cost Hub และสอดคล้องกับโครงการพัฒนาระยะที่ 3 โดยเชื่อมั่นว่าดอนเมืองจะสามารถติดอันดับที่ดีขึ้นได้ในอนาคต” ดร.กีรติกล่าว

แอร์เอเชียสนใจร่วมบริหารเฟส 3

ดร.กีรติกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนหน้านี้ AOT ได้ประกาศแผนการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3 มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี และจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) พื้นที่กว่า 166,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคนต่อปี

โครงการดังกล่าวนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573 ซึ่งกลุ่มแอร์เอเชียได้หารือร่วมกันกับ AOT ถึงแผนพัฒนาดังกล่าวด้วย

“ตอนนี้ท่าอากาศยานดอนเมืองกำลังออกแบบการพัฒนาดอนเมือง เฟส 3 ทางแอร์เอเชียก็ได้มาดูพื้นที่และแจ้งว่าอยากลงทุนด้วยบางส่วน เช่น การตกแต่ง ดูแลพื้นที่ หากเกิดการร่วมมือกับกลุ่มแอร์เอเชีย AOT ก็จะออกแบบโครงการในส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ให้สอดรับกับคอนเซ็ปต์ และวัตถุประสงค์การใช้งานให้มากขึ้นด้วย เช่น แอร์เอเชียอาจใช้พื้นที่ด้านหนึ่งของอาคารไปเลยและช่วยกันบริหารจัดการ เป็นต้น” ดร.กีรติกล่าว

“แอร์เอเชีย” ยันไม่กระทบลูกค้า

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกัน ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เข้าใจและมีความพร้อมในการกลับมาให้บริการทุกเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ตั้งเเต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะสร้างความเเข็งเเกร่งในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายการบินของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่มีทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศกว่า 93 เส้นทาง

อีกทั้งยังสามารถร่วมกันทำโปรโมชั่น และส่งเสริมให้ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เป็นศูนย์กลางการบินราคาประหยัดได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตด้วย โดยปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (รหัส XJ) ให้บริการจากรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ 4 ประเทศ ได้แก่ โตเกียว โอซากา ซัปโปโร นาโกยา (ญี่ปุ่น) โซล (เกาหลีใต้) เซี่ยงไฮ้ (จีน) และซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) รวมสูงสุด 58 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

“ผู้โดยสารไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ที่สำรองที่นั่งล่วงหน้าไว้เเล้ว เเละเดินทางตั้งเเต่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป จะได้รับการติดต่อโดยตรงผ่านอีเมล์ SMS และช่องทางที่ท่านเเจ้งไว้กับสายการบิน โดยสายการบินจะปรับเที่ยวบินมาที่ท่าอากาศยานดอนเมืองโดยอัตโนมัติ พร้อมข้อเสนอทางเลือกการเดินทางต่าง ๆ ขอให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับความสะดวกที่พอใจในการย้ายการให้บริการครั้งนี้” นายธรรศพลฐ์กล่าวและว่า

สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศของสายการบินไทยแอร์เอเชีย (รหัส FD) ที่ให้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ (สงขลา) ยังคงให้บริการปกติตามนโยบายให้บริการ 2 สนามบิน

ตั้งเป้า 5 ปีมีฝูงบิน 30 ลำ

นายธรรศพลฐ์กล่าวต่อไปว่า ก่อนโควิด ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีฝูงบิน 12 ลำ และลดเหลือ 3 ลำในช่วงวิกฤตโควิด ปัจจุบันมีฝูงบินแอร์บัส A330 จำนวน 8 ลำ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 11 ลำภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นมีแผนจะเพิ่มประมาณ 3-5 ลำต่อปี โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีนี้ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะมีจำนวนเครื่องบินทั้งหมดรวม 30 ลำ และมีศักยภาพในการขยายเส้นทางบินไปในตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

“เรามองว่าในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้า การมาปักฐานการบินอยู่ที่ดอนเมืองจะทำให้เรามีศักยภาพในการเติบโตได้ดีกว่าการอยู่ที่สุวรรณภูมิ” นายธรรศพลฐ์กล่าว

จ่อเพิ่มทุนพันล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ดำเนินธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ หลังศาลล้มละลายมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ซึ่งได้รับการแก้ไขตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 โดยคาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยจ่ายคืนหนี้ให้ครบ รวมถึงมีแผนจะเพิ่มทุนอีก 1,000 ล้านบาท ก่อนออกจากแผนฟื้นฟูในปลายปีนี้

โดยตั้งเป้าหมายว่าปี 2567 จะเป็นปีแรกที่ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ พลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้งหลังวิกฤตโควิด โดยคาดว่าจะมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ หรือ “EBITDA” ที่ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท จากเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารรวม 1 ล้านคน ฟื้นตัว 90% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด และมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารที่ประมาณ 85-86%

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “แอร์เอเชียเอ็กซ์” กลับดอนเมือง เจรจา AOT พัฒนาเทอร์มินัลเฟส 3

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-07-17T04:50:58Z dg43tfdfdgfd